เมื่อพูดถึงสายตายาว หลายๆคนมักคิดว่าสายตายาวจะเกิดขึ้นกับคนแก่เท่านั้น แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ค่ะ
สายตายาวสามารถพบได้ในทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชราแต่จะแตกต่างกันตามชนิดของสายตายาวเท่านั้น
สายตายาวที่พบในวัยเด็กมักเกิดจากความยาวของลูกตาที่สั้นเกินไปหรือกระจกตาที่โค้งน้อยเกินไปจึงทำให้แสงตกเลยจอประสาทตาเป็นเหตุให้เกิดสายตายาว
- สายตายาวในเด็กหากมีปริมาณที่เยอะจะทำให้เกิดภาวะตาเหล่เข้าจากการเพ่ง (Accommodative esotropia) ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้เป็นตาขี้เกียจหรือตาเขถาวรได้ ดังนั้นจึงควรให้เด็กตรวจวัดสายตาทุกปี
ส่วนสายตายาวในผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่าสายตายาวตามวัยจะเริ่มมีตั้งแต่ตอนอายุประมาณ 40 ปี
เกิดจากความเสื่อมของโปรตีนในเลนส์ ทำให้เลนส์ตาแข็งตัวขึ้นความยืดหยุ่นน้อยลงและกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแอลงกำลังการเพ่งก็ลดลงด้วย
สายตายาวตามวัยจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 40-60 ปี หลังอายุ 60 ปีจะเริ่มคงที่
- อาการที่บ่งบอกว่าเริ่มมีสายตายาว
1.มองใกล้ไม่ชัดเจนเท่าเมื่อก่อน
2.เห็นชัดขึ้นเมื่อถอยวัตถุให้ห่างออกจากตัว
3.สำหรับคนสายตาสั้น เมื่อถอดแว่นสายตาสั้นออกแล้วมองใกล้ชัดขึ้น
4.รู้สึกไม่สบายตา ล้าตา ปวดหัวขณะใช้สายตามองใกล้
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตายาวคือคนที่เคยสายตาสั้นแต่พอมีสายตายาวแล้วสายตาสั้นจะหายไปความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นซักทีเดียวสายตาสั้นสามารถลดลงได้เล็กน้อยเมื่อเริ่มมีสายตายาวแต่ไม่ได้ลดลงจนสายตาปกติ
- การแก้ปัญหาสายตายาว ที่เป็นที่นิยมคือ
1.ใส่ Contact lenses แบบ Multifocal
2.ใช้เลนส์สายตา
2.1 เลนส์ชั้นเดียว
2.2 เลนส์สองชั้น (Bi-Focal lens)
2.3 เลนส์โปรเกรสซีฟ ( Progressive lenses )